ยุครุ่งโรจน์หวนกลับสู่ซิลิคอนแวลลีย์อีกครั้ง เมื่อออฟฟิศตามแนวทางหลวงสหรัฐหมายเลข 101 คับคั่งไปด้วยบริษัทสตาร์ทอัพไฟแรง อัตราการเช่าที่พุ่งทะยานไม่ต่างจากความต้องการบ้านพักสุดหรูในเมืองท่องเที่ยวอย่างเลก ทาโฮ อันเป็นสัญญาณของความมั่งคั่งเฟื่องฟู เบย์แอเรียคือแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ทำให้บริษัทคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้น ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ที่ทำให้โลกก้าวล้ำมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือจอสัมผัส การค้นหาข้อมูลจากคลังขนาดใหญ่ได้รวดเร็วทันใจ หรือการบังคับโดรนที่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร และด้วยการฟื้นตัวของธุรกิจนับตั้งแต่ปี 2010 นี้เองที่แอบเอ่ยเป็นนัยถึงความคืบหน้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
แต่น่าแปลกใจที่บางคนยังคิดว่าซิลิคอนแวลลีย์หยุดย่ำอยู่กับที่ และมองว่าอัตราการสร้างนวัตกรรมเพลาตัวลงมากว่าสิบปีแล้ว ปีเตอร์ ธีล ผู้ก่อตั้ง PayPal (เพย์แพล) และยังเป็นนักลงทุนจากภายนอกคนแรกของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า นวัตกรรมในอเมริกานั้น "อยู่ระหว่างความสิ้นหวังและความตาย" เหล่าวิศวกรจากหลากหลายพื้นที่ก็ร่วมแชร์ความรู้สึกท้อแท้ไม่ต่างกัน ทั้งยังมีนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ที่เริ่มแพร่หลายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นต่างมองว่านวัตกรรมในวันนี้อาจสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ไม่น่าตื่นตาเท่าเดิม
[ … ]
ไม่ว่าหันไปทางไหนก็จะเห็นได้ว่านวัตกรรมที่ใช้การประมวลผลต้นทุนต่ำกำลังมาแรง คอมพิวเตอร์เริ่มเข้าใจภาษาธรรมชาติ ผู้คนสามารถเล่นวิดีโอเกมเพียงแค่ใช้ท่วงท่าเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะคืบคลานเข้ามายังโลกธุรกิจในรูปแบบอื่นเร็วๆ นี้ รวมถึงการพิมพ์สามมิติที่ผลิตวัตถุรูปร่างซับซ้อนได้ และอาจพัฒนาจนพิมพ์เนื้อเยื่อของมนุษย์และอินทรีย์วัตถุอื่นๆ ได้ในไม่ช้า
ผู้ที่ชอบจับผิดนวัตกรรมอาจมองสิ่งเหล่านี้เป็นเพียง "ความสำเร็จที่ไม่มีวันมาถึง" แต่แนวคิดว่าการเติบโตที่มาจากเทคโนโลยีจะต้องคงที่หรือลดลงอย่างต่อเนื่อง แทนการเติบโตแบบขึ้นๆ ลงๆ ก็ยังคงไม่ลงรอยกับประวัติศาสตร์อยู่ดี แชค ไซเวอร์สัน จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของผลิตภาพในยุคเปลี่ยนผ่านมาใช้ไฟฟ้าเองก็ยังขรุขระไม่ต่าง จากอัตราการเติบโตที่เชื่องช้าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 อันเป็นยุคทองของนวัตกรรมด้านไฟฟ้าที่สำคัญ และกลับมารุ่งพุ่งแรงในภายหลัง